ประวัติพระโกณฑัญญพุทธเจ้า
สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนาม ทีปังกร มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ทรงเป็นผู้นำ ทรงมีพระเดชหาที่สุดมิได้ ทรงมีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมีพระคุณหาที่สุดมิได้ และยากที่จะกระทบกระทั่งได้
พระองค์ทรงเปรียบดังแผ่นดินโดยขันติธรรม เปรียบดังสาครโดยศีล เปรียบดังภูเขาสิเนรุโดยสมาธิ เปรียบดังท้องฟ้าโดยปัญญา
ทรงประกาศธรรมที่ควรประกาศ
คือ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค
อริยสัจ ในกาลทุกเมื่อ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
เมื่อพระบรมศาสดาพระนามโกณฑัญญะ
ทรงประกาศพระธรรมจักรเทวดา และมนุษย์ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม ครั้งที่
๑
เมื่อทรงแสดงธรรมในสมาคมของเทวดา และมนุษย์ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ ๒
ครั้นทรงแสดงธรรมย่ำยีพวกเดียรถีย์
เทวดา และมนุษย์ ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ ๓
พระโกณฑัญญะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกผู้เป็นขีณาสพ ๓
ครั้ง
ครั้งที่ ๑ พระขีณาสพมาประชุมกัน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๒ พระขีณาสพมาประชุมกัน ๑,๐๐๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๓ พระขีณาสพมาประชุมกัน ๙๐ โกฏิ
สมัยนั้น เราเป็นพระมหากษัตริย์มีนามว่า วิชิตาวี แผ่ความเป็นใหญ่ไป โดยมีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขต เราได้อังคาส พระพุทธเจ้า และภิกษุสาวกประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ผู้ปราศจากมลทินให้อิ่มหนำด้วยอาหารอันประณีต แม้พระพุทธเจ้าพระนามโกณฑัญญะ
ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันนับไม่ได้ จากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
พระตถาคตเสด็จออกจาก กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา
จักประทับนั่งที่ โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั่นแล้ว
เสด็จไป แม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสวยข้าวปายาส แล้วเสด็จที่โคนต้นโพธิ์ แล้วตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
พระมารดาจักมีพระนามว่า
มายา พระบิดาจักมีพระนามว่า สุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่า โคดม ตามโคตร
พระโกลิตเถระ
และพระอุปติสสเถระ จักเป็นอัครสาวก พระเถระนามว่า อานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรรณาเถรี จักเป็นอัครสาวิกา
จิตตคหบดีอุบาสก
และหัตถคหบดีอุบาสก จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกา และอุตตราอุบาสิกา จักเป็นพระอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มีพระยศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุ ประมาณ ๑๐๐ ปี
เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง เมื่อจะทำประโยชน์นั้นให้สำเร็จ
จึงได้ถวายราชสมบัติอันยิ่งใหญ่แก่พระชินเจ้า
แล้วออกบวชในสำนักของพระองค์
เราได้เล่าเรียนพระสูตร
และพระวินัย อันเป็นวังคสัตถุศาสตร์ทั้งปวงแล้ว ช่วยประกาศพระศาสนาของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง
เราไม่เป็นผู้ประมาท อยู่ในคำสั่งสอนนั้น ทั้งในเวลานั่ง ยืน
และเดิน ถึงความสำเร็จอภิญญาแล้ว ได้ไปเกิดในพรหมโลก
กรุงชื่อว่า รัมมวดี
กษัตริย์พระนามว่า สุนันทะ
เป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่า
สุชาดา เป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนาม โกณฑัญญะ
พระชินเจ้าครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ทรงมีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือสุจิปราสาท สุรุจิปราสาท และสุภปราสาท
มีนางสนมกำนัลใน
๓๐๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่า รุจิเทวี พระราชโอรสพระนามว่า วิชิตเสนะ
พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต
๔ ประการ (คนแก่ คนเจ็บ คนตาย บรรพชิต)
จึงทรงราชพาหนะ คือรถออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐
เดือนเต็ม ก็ได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณ ต้นไม้ที่ทรงประทับนั่งตรัสรู้ คือต้นขานาง
เมื่อพรหมทูลอาราธนาแล้ว
ทรงประกาศพระธรรมจักรแก่เทวดา และมนุษย์ ณ ป่ามหาวัน
พระภัททเถระ
และพระสุภัททเถระ เป็นอัครสาวก พระอนุรุทธเถระ เป็นพระอุปัฏฐาก พระติสสาเถรี และพระอุปติสสาเถรี
เป็นอัครสาวิกา
โสณอุบาสก
และอุปโสณอุบาสก เป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทาอุบาสิกา และสิริมาอุบาสิกา เป็นพระอุปัฏฐายิกา
พระมหามุนีโกณฑัญญะ ทรงมีพระวรกายสูง
๘๘ ศอก
ทรงงดงามดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ และดังดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน มีพระชนมายุ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในขณะนั้น
มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ฤทธิ์ของพระพุทธเจ้าไม่มีที่เปรียบ สมาธิอันปัญญาอบรมดีแล้ว
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปพร้อมกันแล้ว
สังขารทั้งปวง
เป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
พระมหามุนีโกณฑัญญะ
ทรงสิริ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ นันทาราม พระเจดีย์สูง ๗ โยชน์ ณ
นันทาราม ฉะนี้แล
พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ตั้งแต่สมเด็จพระพุทธทีปังกร จนถึงสมเด็จพระพุทธกัสสปะ ต่างทรงพยากรณ์พระมหาโพธิสัตว์เจ้า จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก พร้อมทั้งพระนาม พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระโอรส พระมเหสี ต้นไม้ที่ตรัสรู้ พระอัครสาวก อัครสาวิกา พระอุปัฎฐาก ฯลฯ เช่นเดียวกันทุกๆพระองค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น