วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยฌาน



อาสวะทั้งหลายสิ้นไปเพราะอาศัยฌาน

           ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวว่า
     1. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยปฐมฌาน
     2. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยทุติยฌาน
     3. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยตติยฌาน
     4. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะอาศัยจตุตถฌาน
     5. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยอากาสานัญจายตนฌาน
     6. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน
     7. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน
     8. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
     9. อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปฐมฌานนั้น โดยสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งคอยก่อความเดือดร้อน เป็นที่ทำให้ขัดข้อง เป็นดังคนฝ่ายอื่น เป็นสิ่งต้องแตกสลาย เป็น ของว่างเปล่า เป็นอนัตตา

เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น (ขันธ์ 5) ครั้นแล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (นิพพาน) ว่าเป็น ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอดำรงอยู่ในปฐมฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์ 5 ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

อาสวะสิ้นไป เพราะอาศัยทุติยฌาน ฯลฯ เพราะอาศัยตติยฌาน ฯลฯ และเพราะอาศัยจตุตถฌาน ฯลฯ ก็เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันกับการอาศัยปฐมฌาน

อาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้ เพราะ อาศัยอากาสานัญจายตนฌาน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่าอากาศหาที่สุดมิได้อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณ ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น โดยสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร เป็นสิ่งต้องแตกสลาย เป็นของว่างเปล่า เป็นอนัตตา

เธอย่อมทำจิตให้กลับจากธรรมเหล่านั้น(ขันธ์ 5) ครั้นแล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่ออมตธาตุ (นิพพาน)ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอดำรงอยู่ในอากาสานัญจายตนฌานนั้น ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์ 5 ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

อาสวะสิ้นไป เพราะ อาศัยวิญญาณัญจายตนฌาน (วิญญาณหาที่สุดมิได้อยู่) ฯลฯ และเพราะอาศัยอากิญจัญญายตนฌาน (ไม่มีอะไรอยู่) ฯลฯ ก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกับอาศัยอากาสานัญจายตนฌาน ฯลฯ

         เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และสัญญาเวทยิตนิโรธ ต่างอาศัยกันและกัน คือ สัญญาสมาบัติมีเท่าใด สัญญาปฏิเวธก็มีอยู่เท่านั้น



อานิสงส์ 5 ประการ ของบุคคลผู้มีศีล


อานิสงส์ 5 ประการ ของผู้มีศีล

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับอุบาสก อุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า  คหบดีทั้งหลายศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล  มีอานิสงส์  5 ประการ ดังนี้
1. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์เป็นอันมาก
        2. กิตติศัพท์อันงามบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมขจรไป
3. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน
4. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไม่หลงลืมสติตาย
5. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล หลังตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

โทษ 5 ประการ ของผู้ทุศีล   

1. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์
2. กิตติศัพท์อันชั่วบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ  ย่อมกระฉ่อนไป
3. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใดๆ ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป
4. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย
5. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต และนรก



อวิชชา วิชชา และวิมุตติ


อวิชชา วิชชา และวิมุตติ

                ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฎ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี  ภายหลังจึงมี เพราะฉะนั้น  เราจึงกล่าวคำนี้ อย่างนี้ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้  อวิชชาที่มีข้อนี้  เป็นปัจจัยจึงปรากฏ
อวิชชา มีอาหาร คือ นิวรณ์ 5 (กามฉันทะ พยาบาท ถิ่นมิทธะ  อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา)
นิวรณ์ 5 มีอาหาร คือ ทุจริต 3 (กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต)
ทุจริต 3 มีอาหาร คือ ความไม่สำรวมอินทรีย์
ความไม่สำรวมอินทรีย์ มีอาหาร คือ ความไม่มีสติสัมปชัญญะ
ความไม่มีสติสัมปชัญญะ  มีอาหาร คือ การมนสิการโดยไม่แยบคาย
การมนสิการโดยไม่แยบคาย มีอาหาร คือ ความไม่มีศรัทธา
ความไม่มีศรัทธา  มีอาหาร คือ การไม่ฟังสัทธรรม
การไม่ฟังสัทธรรม มีอาหาร คือ การไม่คบสัตบุรุษ
การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์   ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์   
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีศรัทธาบริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การมนสิการโดยไม่แยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ทุจริต 3 บริบูรณ์
ทุจริต 3 ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้นิวรณ์ 5 บริบูรณ์
นิวรณ์ 5 ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้อวิชชาบริบูรณ์
**อวิชชา มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้แล**

วิชชา และวิมุตติ

          ภิกษุทั้งหลาย วิชชา และวิมุตติ  เราก็กล่าวว่ามีอาหาร  มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
วิชชาและวิมุตติ  มีอาหาร คือ โพชฌงค์ 7
โพชฌงค์ 7  มีอาหาร คือ สติปัฏฐาน 4
สติปัฏฐาน 4 มีอาหาร คือ สุจริต 3
สุจริต 3  มีอาหาร คือ ความสำรวมอินทรีย์
ความสำรวมอินทรีย์  มีอาหาร คือ สติสัมปชัญญะ
สติสัมปชัญญะ  มีอาหาร คือ การมนสิการโดยแยบคาย
การมนสิการโดยแยบคาย  มีอาหาร คือ ศรัทธา
ศรัทธา  มีอาหาร คือ การฟังสัทธรรม
การฟังสัทธรรม  มีอาหาร คือ การคบสัตบุรุษ
การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สุจริต 3 บริบูรณ์
สุจริต 3 ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้สติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์
สติปัฏฐาน 4 ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้โพชฌงค์ 7 บริบูรณ์
โพชฌงค์ 7 ที่บริบูรณ์  ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
** วิชชา และวิมุตติ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้แล**