วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การหลุดพ้น


    จากวิมุตตายตนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงการหลุดพ้น คือการบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบัน จนถึงพระอรหันต์ไว้ มี ๕ ประการ ได้แก่
    ๑. บรรลุธรรมในขณะฟังธรรม
    ๒. บรรลุธรรมในขณะแสดงธรรม
    ๓. บรรลุธรรมในขณะสาธยายธรรม
    ๔. บรรลุธรรมในขณะพิจารณาธรรม
    ๕. บรรลุธรรมในขณะทำสมาธิภาวนา
  
   ● คำว่า "ภาวนา" แปลว่า ทำให้ได้ ให้มี ทำให้เป็นขึ้น หมายถึงความสิ้นไปแห่งกิเลสตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

   ● ภาวนา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
       ๑. สมถภาวนา คือ อุบายสงบใจ : การทำใจให้สงบจากกิเลสหรือความคิดฟุ้งซ่านทั้งหลาย
       ๒. วิปัสสนาภาวนา คือ อุบายเรืองปัญญา : การทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงของความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปธรรมและนามธรรมหรือขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จนสามารถทำลายทิฏฐิที่เห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน และถอนอุปาทานขันธ์ ๕ ได้โดยสิ้นเชิง

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

อุปนิสสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์


อุปนิสสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
                ครั้งนั้น  ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  เพื่อพยากรณ์อรหัตตผลว่า  ผู้ไม่มีอาสวะกิเลส  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว  ปลงภาระได้แล้ว ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก  บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ  หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ  ย่อมน้อมไปในฐานะ  ๖ ประการ คือ
๑.     น้อมไปในเนกขัมมะ
๒.    น้อมไปในวิเวก
๓.    น้อมไปเพื่อความไม่เบียดเบียน
๔.    น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน  
๕.    น้อมไปในความสิ้นตัณหา
๖.     น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง 

พุทธอุทานคาถา


พุทธอุทานคาถา
            ความสงัด  เป็นสุขของผู้สันโดษ  ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว  ผู้เห็นอยู่ 
ความไม่เบียดเบียน  คือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย  เป็นสุขในโลก 
ความปราศจากราคะ คือ ความล่วงกามทั้งหลายได้  เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะ (ความถือตัวว่า เป็นนั่น เป็นนี่) เสียได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง
        (เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว  เสวยวิมุตติสุขอยู่
   ควงต้นมุจลินท์  ตลอด ๗ วัน)

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

โทษของฉันทราคะ



โทษของฉันทราคะ

ท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่เหล่าพระภิกษุทั้งหลายว่า
บุคคลใดไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ผันแปรเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ จึงเกิดขึ้น
พระศาสดาทรงเห็นโทษนี้แล จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

การแก้ความยุ่งของหมู่สัตว์



การแก้ความยุ่งของหมู่สัตว์

ท้าวสักกเทวราชกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า หมู่สัตว์ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก ถูกความยุ่งพาให้นุงนัง ใครพึงแก้ความยุ่งนี้ได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า จอมเทพ ! นรชนผู้มีปัญญา เห็นภัยในสังสารวัฏ ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญจิตและปัญญา มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหารนั้น พึงแก้ความยุ่งนี้ได้

ความสุขชั้นสูง



ความสุขชั้นสูง

กามคุณ ๕ เป็นความสุขชั้นตํ่า การเว้นจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นความสุขชั้นสูง เป็นทิพย์ 
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้การเกิด ดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดจากกามทั้งหลาย
ความสุขชั้นสูง คือ ผลสมาบัติ ละตัณหาในกามได้ บรรเทาความเร่าร้อนจากกามได้ ปราศจากความกระหาย และมีจิตสงบ