วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาทิตตปริยสูตร



อาทิตตปริยสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วเสด็จจาริกไปยังตำบลคยาสีสะ  พร้อมด้วยภิกษุราว ,๐๐๐ รูป ล้วนเคยเป็นชฎิล ผู้บูชาไฟ (เป็นบริวารของชฎิล ๓ พี่น้อง ได้แก่ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ๕๐๐ คน  ชฎิลนทีกัสสปะ  ๓๐๐ คน ชฎิลคยากัสสปะ  ๓๐๐ คน)
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า  ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน  ก็อะไรเล่า ชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุ (ตา) เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   รูปทั้งหลาย เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุวิญญาณ เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุสัมผัส เป็นของร้อน
แม้เสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์   หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์    ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย  ก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร ?  เรากล่าวว่า  ร้อนเพราะไฟคือราคะ  ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ  ร้อนเพราะความเกิด  เพราะความแก่  เพราะความตาย  เพราะความโศก  เพราะความคร่ำครวญ  เพราะทุกข์  เพราะโทมนัส   เพราะความคับแค้นใจ
โสตะ(หู)เป็นของร้อน  เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ฆานะ(จมูก)เป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อนฯลฯ
ชิวหา(ลิ้น)เป็นของร้อน  รสทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
 กาย เป็นของร้อน โผฎฐัพพะ(สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง) ทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ          
มนะ(ใจ)เป็นของร้อน  ธรรมารมณ์(อารมณ์)ทั้งหลายเป็นของร้อน  มโนวิญญาณ(ความรู้ทางใจ) เป็นของร้อน  มโนสัมผัส(การกระทบใจ) เป็นของร้อน แม้เสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนสัมผัสเป็นปัจจัย  ก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร ? เรากล่าวว่า  ร้อนเพราะไฟคือราคะ  ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ  เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูปทั้งหลาย  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์  หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย 
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน โสตะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน กาย   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน มนะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์  หรือมิใช่สุข  มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น  เพราะอาศัยมโนสัมผัสเป็นปัจจัย  
 เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่  จิตของภิกษุ ,๐๐๐ รูป เหล่านั้น  ก็หลุดออกจากอาสวะทั้งหลาย  เพราะไม่ถือมั่น





อนัตตลักขณสูตร



อนัตตลักขณสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า

รูป (สิ่งที่ต้องสลายไป) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของของตน) ถ้ารูปจักเป็นอัตตา(ตัวตนของตน) แล้วไซร้ รูปนี้ก็ไม่พึงเป็นไป เพื่ออาพาธ(ความเจ็บป่วย)และบุคคลพึงได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

เวทนา (ความเสวยอารมณ์สุข ทุกข์ เฉยๆ) เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน) ถ้าเวทนาจักเป็นอัตตา(ตัวตนของตน) แล้วไซร้ เวทนานี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้นเวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า “เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

สัญญา(ความจำได้หมายรู้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน) ถ้าสัญญา จักเป็นอัตตา(ตัวตนของตน) แล้วไซร้ สัญญานี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้นสัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

สังขาร(การคิดปรุงแต่ง) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน) ถ้าสังขารจักเป็นอัตตา(ตัวตนของตน) แล้วไซร้ สังขารนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารว่า “สังขารของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะสังขารเป็นอนัตตา ฉะนั้นสังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารว่า “สังขารของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขาร ของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น”

วิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์) เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน) ถ้าวิญญาณจักเป็นอัตตา(ตัวตนของตน)แล้วไซร้ วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้นวิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเรา อย่าได้เป็นอย่างนั้น”

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร 

“รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง(อนิจจัง แปรปรวน เกิดดับๆ) สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“ เป็นทุกข์(ถูกความดับสลายบีบคั้น ทนได้ยาก) พระพุทธเจ้าข้า”
"ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา"   ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“ เวทนาเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“ เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดาควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“สัญญาเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า"
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ?
“ เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  “ ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“สังขาร เที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“ เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  “ ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”

“วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“ เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความผันแปรไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”  “ ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
( รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ ขันธ์ ๕ หรือนามรูป )

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้น
รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

เวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

สัญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า “ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

สังขาร อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

 เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนัตตตลักขณสูตรนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็หลุดออกจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ รูป”