วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาทิตตปริยสูตร



อาทิตตปริยสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วเสด็จจาริกไปยังตำบลคยาสีสะ  พร้อมด้วยภิกษุราว ,๐๐๐ รูป ล้วนเคยเป็นชฎิล ผู้บูชาไฟ (เป็นบริวารของชฎิล ๓ พี่น้อง ได้แก่ ชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ๕๐๐ คน  ชฎิลนทีกัสสปะ  ๓๐๐ คน ชฎิลคยากัสสปะ  ๓๐๐ คน)
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งว่า  ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน  ก็อะไรเล่า ชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุ (ตา) เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   รูปทั้งหลาย เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุวิญญาณ เป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย  !   จักขุสัมผัส เป็นของร้อน
แม้เสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์   หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์    ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย  ก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร ?  เรากล่าวว่า  ร้อนเพราะไฟคือราคะ  ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ  ร้อนเพราะความเกิด  เพราะความแก่  เพราะความตาย  เพราะความโศก  เพราะความคร่ำครวญ  เพราะทุกข์  เพราะโทมนัส   เพราะความคับแค้นใจ
โสตะ(หู)เป็นของร้อน  เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ฆานะ(จมูก)เป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อนฯลฯ
ชิวหา(ลิ้น)เป็นของร้อน  รสทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
 กาย เป็นของร้อน โผฎฐัพพะ(สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง) ทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ          
มนะ(ใจ)เป็นของร้อน  ธรรมารมณ์(อารมณ์)ทั้งหลายเป็นของร้อน  มโนวิญญาณ(ความรู้ทางใจ) เป็นของร้อน  มโนสัมผัส(การกระทบใจ) เป็นของร้อน แม้เสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนสัมผัสเป็นปัจจัย  ก็เป็นของร้อน 
ร้อนเพราะอะไร ? เรากล่าวว่า  ร้อนเพราะไฟคือราคะ  ร้อนเพราะไฟคือโทสะ ร้อนเพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ  เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน รูปทั้งหลาย  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุสัมผัส  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข หรือทุกข์  หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย 
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน โสตะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน ชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน กาย   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน มนะ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย   ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนวิญญาณ  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์  หรือมิใช่สุข  มิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น  เพราะอาศัยมโนสัมผัสเป็นปัจจัย  
 เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่  จิตของภิกษุ ,๐๐๐ รูป เหล่านั้น  ก็หลุดออกจากอาสวะทั้งหลาย  เพราะไม่ถือมั่น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น