วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ธรรมที่นำสัตว์ไปกำเนิดในสวรรค์ และนรก





ธรรมที่นำสัตว์ไปกำเนิดในสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม 40 ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ได้แก่

  1. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
  2. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
  3. เป็นผู้พอใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
  4. สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
      5. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
  6. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์
  7. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการลักทรัพย์
  8. สรรเสริญการงดเว้นจากการลักทรัพย์
      9. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
10. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
11. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
12. สรรเสริญการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
     13. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
14. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ
15. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเท็จ
16. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเท็จ
     17. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
18. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
19. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
20. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
21. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดหยาบคาย
22. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดหยาบคาย
23. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดหยาบคาย
24. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดหยาบคาย
25. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
26. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
27. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
28. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
29. ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
30. ชักชวนผู้อื่นไม่ให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
31. เป็นผู้พอใจการไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
32. สรรเสริญการไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
33. ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
34. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตไม่พยาบาท
35. เป็นผู้พอใจการมีจิตไม่พยาบาท
36. สรรเสริญการมีจิตไม่พยาบาท
37. ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ
38. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
39. เป็นผู้พอใจการเป็นสัมมาทิฏฐิ
40. สรรเสริญการเป็นสัมมาทิฏฐิ
(สัมมาทิฏฐิ  คือ การมีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม)

ธรรมที่นำสัตว์ไปกำเนิดในนรก

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลประกอบด้วยธรรม 40 ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้ ได้แก่
  1. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์
  2. ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์
  3. เป็นผู้พอใจการฆ่าสัตว์
  4. สรรเสริญการฆ่าสัตว์
       5. ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์
  6. ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์
  7. เป็นผู้พอใจการลักทรัพย์
  8. สรรเสริญการลักทรัพย์
      9. ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
     10. ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม
     11. เป็นผู้พอใจการประพฤติผิดในกาม
     12. สรรเสริญการประพฤติผิดในกาม
13. ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ
14. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
15. เป็นผู้พอใจการพูดเท็จ
16. สรรเสริญการพูดเท็จ
17. ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด
18. ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด
19. เป็นผู้พอใจการพูดส่อเสียด
20. สรรเสริญการพูดส่อเสียด
21. ตนเองเป็นผู้พูดหยาบคาย
22. ชักชวนผู้อื่นให้พูดหยาบคาย
23. เป็นผู้พอใจการพูดหยาบคาย
24. สรรเสริญการพูดหยาบคาย
25. ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
26. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
27. เป็นผู้พอใจการพูดเพ้อเจ้อ
28. สรรเสริญการพูดเพ้อเจ้อ
29. ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
30. ชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
31. เป็นผู้พอใจการเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
32. สรรเสริญการเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
33. ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท
34. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท
35. เป็นผู้พอใจการมีจิตพยาบาท
36. สรรเสริญการมีจิตพยาบาท
37. ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ
38. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
39. เป็นผู้พอใจการเป็นมิจฉาทิฏฐิ
40. สรรเสริญการเป็นมิจฉาทิฏฐิ
(มิฉาทิฎฐิ คือ มีความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)
  

จาก..หนังสือพระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๓๙ เล่ม ๒๔

บุพกรรมเก่าของพระพุทธเจ้า



บุพกรรมเก่าของพระพุทธเจ้า


ณ พื้นศิลาที่น่ารื่นรมย์ใกล้สระอโนดาต โชติช่วงด้วยรัตนะต่างๆ ในละแวกป่ามีดอกไม้ มีกลิ่นหอมนานาชนิด พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีหมู่ภิกษุหมู่ใหญ่ห้อมล้อม ประทับนั่งที่ศิลาอาสน์นั้น ทรงพยากรณ์บุพกรรมของพระองค์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจงฟังกรรมของเรา เราเห็นภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร จึงถวายผ้าเก่าผืนหนึ่ง ในกาลนั้น เราปรารถนาการตรัสรู้เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก ผลของการถวายผ้าเก่าผืนนั้น ให้ผลในความเป็นพระพุทธเจ้าของเรา

ในชาติปางก่อน เราเกิดเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกินน้ำขุ่น จึงห้ามมันไว้ ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา

ในชาติอื่น ๆ ในปางก่อน เราเกิดเป็นนักเลงชื่อว่า ปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้า มีนามว่า สุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายใคร ด้วยผลกรรมนั้นเราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี
ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น ในภพสุดท้ายนี้ เราได้รับการกล่าวตู่ เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ

เพราะ การกล่าวตู่ พระเถระนามว่า นันทะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ถึง 100,000 ปี ครั้นได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ได้รับการกล่าวตู่มาก ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น นางจิญจมาณวิกาจึงมากล่าวตู่เรา ด้วยคำไม่จริง ท่ามกลางฝูงชน

เราเกิดเป็นพราหมณ์ผู้มีสุตะ ซึ่งประชาชนสักการบูชา ได้สอนมนตร์ให้แก่มานพ ประมาณ 500 คน ในป่าใหญ่ เราได้เห็นฤาษีผู้น่าเกรงกลัว ผู้ได้อภิญญา 5 มีฤทธิ์มาก มายังสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่พระฤาษีผู้ไม่ประทุษร้ายใคร
ครั้งนั้น เราได้บอกพวกศิษย์ว่า ฤาษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ เพียงเราบอกเท่านั้น พวกมานพก็พลอยเชื่อ ตั้งแต่นั้นมา พวกมานพทั้งหมด ไปเที่ยวหาอาหารในตระกูลทั้งหลาย พากันบอกประชาชน ฤาษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ ด้วยผลกรรมนั้น ภิกษุ 500 รูป เหล่านี้ ได้รับการกล่าวตู่ เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ

ในชาติก่อน เราได้ฆ่าน้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับโยนลงซอกภูเขา แล้วโยนหินทับไว้ ด้วยผลกรรมนั้น พระเทวทัต จึงผลักก้อนหินกลิ้งลงมา สะเก็ดหินกระทบนิ้วหัวแม่เท้าของเรา(จนห้อเลือด)

ในชาติก่อน เรายังเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงหว่านก้อนกรวดไว้ที่หนทาง ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ พระเทวทัตจึงชวนนักแม่นธนู ผู้เป็นนักฆ่า เพื่อฆ่าเรา

ในชาติก่อน เราเป็นนายควาญช้าง ได้ไสช้างไล่ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นมหามุนีสูงสุด ซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต ด้วยผลกรรมนั้น ช้างนาฬาคีรีเชือกดุร้าย จึงวิ่งไล่เราในกรุงราชคฤห์ อันประเสริฐ

ในชาติก่อน เราเป็นทหารราบ ได้ใช้หอกฆ่าคนเป็นจำนวนมาก ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงถูกไฟไหม้อย่างร้อนแรงในนรก ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่ ในบัดนี้ ไฟนั้นยังตามมาไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทุกแห่ง เพราะกรรมยังไม่สิ้นไป

ในชาติก่อนเราเป็นเด็กลูกของชาวประมงอาศัยอยู่ในเกวัฏฏคาม เห็นชาวประมงฆ่าปลาแล้ว เกิดความโสมนัส ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงปวดศีรษะ ในเมื่อเจ้าศากยะ ทั้งหลายถูกฆ่า คราวที่ พระเจ้าวิฑูฑภะ ฆ่า

เราได้ด่าบริภาษเหล่าสาวก ในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ผุสสะ ด้วยคำว่า ท่านทั้งหลายจงขบเคี้ยว จงฉันแต่ข้าวเหนียว อย่าได้ฉัน ข้าวสาลีเลย ด้วยผลกรรมนั้นเรารับนิมนต์พราหมณ์ อยู่จำพรรษาใน เมืองเวรัญชา ได้ฉันแต่ข้าวเหนียว ตลอด 3 เดือน

ในชาติก่อน เมื่อนักมวยกำลังชกกัน เราได้กันบุตรชายนักมวยปล้ำไว้ ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงได้รับความทุกข์ที่สันหลัง (ปวดหลัง)

ในชาติก่อน เราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้ลูกชายเศรษฐี (ถึงความตาย) ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงป่วยเป็นโรคปักขันทิกาพาธ (ทรงอาพาธถ่ายเป็นพระโลหิต)
ครั้งนั้น เราชื่อว่า โชติปาละ ได้กล่าวตู่พระสุคต พระนามว่า กัสสปะ ว่า การตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์ จักมีมาแต่ไหน การตรัสรู้หาได้แสนยาก ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงได้บำเพ็ญทุกรกิริยานานถึง 6 ปี แต่ว่าเรามิได้บรรลุพระโพธิญาณที่สูงสุด ด้วยทางนี้

เราถูกกรรมในปางก่อนตักเตือนแล้ว จึงแสวงหา(โพธิญาณ) ผิดทางต่อจากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ ที่ตำบลอุรุเวลา

เราสิ้นบาป สิ้นบุญแล้ว ปราศจากความเร่าร้อนทุกอย่าง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน