เครื่องจองจำ
ภิกษุทั้งหลาย
! นักปราชญ์ทั้งหลาย ไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก
ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี
และความใยดีในบุตรภรรยาว่า เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ความกำหนัดในเครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
มีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดได้ยาก นักปราชญ์เหล่านั้น
ตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช
เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางอดีต
อนาคต ปัจจุบัน จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป
บุคคลผู้ถูกวิตกย่ำยี
มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้นๆ บุคคลเช่นนั้นแล
ชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่สงบระงับวิตก
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่ ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมารได้
ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว
ไม่มีความสะดุ้งกลัว ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง
รู้ธรรมทั้งปวง มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้ หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงกล่าวอ้างใครเล่า (อุปัชฌาย์/อาจารย์)
การให้ธรรม
ชนะการให้ทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง
โภคทรัพย์ทั้งหลาย
ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง(นิพพาน)
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์ คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเอง ดุจทำลายคนอื่น ฉะนั้น
ผู้ไม่มีความยึดติดในนามรูปว่า
เป็นของเรา โดยประการทั้งปวง และไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปผันแปรไป
ผู้นั้นแลเราเรียกว่า ภิกษุ
ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ผู้มีทั้งฌาน และปัญญานั่นแล จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงสลัดราคะ และโทสะทิ้งเสีย เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น
บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
จากอาจารย์ใด ควรนอบน้อมอาจารย์นั้น โดยความเคารพ เหมือนพราหมณ์ นอบน้อมไฟที่บูชา
ฉะนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น