วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555

นิพพานธาตุ




นิพพานธาตุ 

            ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ  ๒ ประการนี้
๑.  สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ  อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว  บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ เพราะอินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) ที่ยังคงอยู่  ไม่ดับไป ภิกษุนั้นจึงประสบอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์  (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) เสวยสุข และทุกข์อยู่  ภิกษุทั้งหลาย  ความสิ้นราคะ  ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของภิกษุนั้น  เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์(กิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้กับภพ)แล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ  ภิกษุทั้งหลาย เวทนาในอัตภาพนี้นั่นแลของภิกษุนั้น อันตัณหาเป็นต้น ให้เพลิดเพลินไม่ได้ต่อไปแล้ว จักระงับดับสนิท สภาวะดังกล่าวนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

นิพพาน

          ภิกษุทั้งหลาย ! อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้  โลกหน้า พระจันทร์ พระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายาตนะนั้น"  
   เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป  เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้น หาที่ตั้งอาศัยไม่ได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์

          (จาก..หนังสือพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 25 ข้อที่ 158 ปฐมนิพานสูตร)

1 ความคิดเห็น: