วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การบันลือสีหนาทของท่านพระสารีบุตร

 การบันลือสีหนาทของท่านพระสารีบุตร

ภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวหาท่านพระสารีบุตรกับพระผู้พระภาคเจ้าว่า กระทบตนแล้วไม่ขอโทษจาริกไป ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ให้ทรงทราบว่า  

ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ !  ภิกษุใดไม่ตั้งมั่นในกายคตาสติ (สติไปในกาย) ไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง  ในธรรมวินัยนี้แล้วไม่ขอโทษ  จาริกไป  

๑. ชนทั้งหลายย่อมทิ้งของสะอาดบ้าง ทิ้งของไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง ทิ้งน้ำลายบ้างทิ้งหนองบ้าง ทิ้งเลือดบ้าง ลงบนแผ่นดิน  แต่แผ่นดินก็ไม่อึดอัดระอา หรือรังเกียจในสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ (ความเป็นใหญ่ข่มกิเลสได้) ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๒. ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ล้างของไม่สะอาดบ้าง ล้างคูถ ล้างมูตรบ้าง ล้างน้ำลายบ้าง ล้างหนองบ้าง  ล้างเลือดบ้างในน้ำ  แต่น้ำก็ไม่อึดอัดระอา หรือรังเกียจสิ่งนั้น  แม้ฉันใด  ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน  มีใจเสมอด้วยน้ำ ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๓. ไฟย่อมไหม้ของสะอาดบ้าง ไหม้ของไม่สะอาดบ้าง ไหม้คูถบ้าง ไหม้มูตรบ้าง ไหม้น้ำลายบ้าง  ไหม้หนองบ้าง  ไหม้เลือดบ้าง  แต่ไฟก็ไม่อึดอัดระอา รังเกียจ สิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเสมอด้วยไฟ ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๔. ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง พัดของไม่สะอาดบ้าง พัดคูถบ้าง พัดมูตรบ้าง พัดน้ำลายบ้าง  พัดหนองบ้าง  พัดเลือดบ้าง แต่ลมก็ไม่อึดอัดระอา  หรือรังเกียจสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเสมอด้วยลม ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๕. ผ้าเช็ดธุลีย่อมเช็ดของสะอาดบ้าง เช็ดของไม่สะอาดบ้าง เช็ดคูถบ้าง เช็ดมูตรบ้าง เช็ดน้ำลายบ้าง  เช็ดหนองบ้าง  เช็ดเลือดบ้าง  แต่ผ้าเช็ดธุลี   ก็ไม่อึดอัดระอา หรือรังเกียจสิ่งนั้น แม้ฉันใด ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น เหมือนกัน มีใจเสมอด้วยผ้าเช็ดธุลี  ไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๖. เด็กจัณฑาลชาย หรือเด็กจัณฑาลหญิง หิ้วตระกร้านุ่งผ้าชายขาด เมื่อเข้าไปสู่บ้านหรือนิคม ย่อมตั้งจิต นอบน้อมเท่านั้นเข้าไป แม้ฉันใด ข้าพระองค์ ก็ฉันนั้น มีใจเสมอด้วยเด็กจัณฑาลชาย หรือเด็กจัณฑาลหญิง ไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๗. โคผู้เขาหัก สงบเสงี่ยม ได้รับการฝีกมาดี ได้รับการแนะนำมาดี ให้สำเหนียกดี เดินไปตามถนนหนทาง ตามทางแยกน้อยใหญ่ไม่ดีด หรือขวิดใคร ๆ แม้ฉันใด  ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น มีใจเสมอด้วยโคผู้เขาหัก ไพบูลย์  เป็นมหัคคตะ  ไม่มีขอบเขต  ไม่มีเวร  ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

๘. สตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว สรงน้ำดำหัวแล้ว พึงอึดอัดระอา หรือรังเกียจซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ที่คล้องคอไว้ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น  ย่อมอึดอัด  ระอา  หรือรังเกียจกายอันเน่าเปื่อยนี้

๙. ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษประคองถาดน้ำมันข้น ที่มีช่องน้อย  ช่องใหญ่ น้ำไหลออกได้ข้างบนไหลออกได้ข้างล่าง แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมบริหารกายที่มีช่องน้อยช่องใหญ่  ไหลเข้าไหลออกอยู่
(ช่องน้อยช่องใหญ่ หมายถึง ปากแผลทวารทั้ง ๙ ได้แก่ ช่องตาทั้งสอง ช่องจมูกทั้งสอง ช่องหูทั้งสอง ปาก ทวารหนัก และทวารเบา)

เมื่อท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จแล้ว  ภิกษุรูปที่กล่าวหาท่านพระสารีบุตร ได้หมอบกราบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบขอขมาโทษ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสขอให้ท่านพระสารีบุตรอดโทษให้แก่ภิกษุรูปนั้น ก่อนที่ศีรษะของภิกษุรูปนั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง


วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิโมกข์ 3 (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓๑)



 ประตูสู่วิโมกข์ 3 ประการ
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓๑)

ประตูสู่วิโมกข์ 3 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อนำออกจากโลก

1. การพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวง ทั้งในส่วนเบื้องต้น และเบื้องปลาย และเพราะจิตดำเนินไป ในอนิมิตตธาตุ (ไม่มีนิมิต)

2. การทำใจให้อาจหาญในสังขารทั้งปวง และเพราะจิตดำเนินไป ในอัปปณิหิตธาตุ (ไม่มีความปรารถนา)

3. การพิจารณาเห็นธรรมทั้งปวง โดยความเป็นฝ่ายอื่น และเพราะจิตดำเนินไป ในสุญญตธาตุ (ความว่าง)

เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง สังขารปรากฏโดยความสิ้นไป
เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ สังขารปรากฏ โดยความเป็นภัย
เมื่อมนสิการโดยความอนัตตา สังขารปรากฏ โดยสุญญตะ
       เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง จิตมากด้วยความน้อมใจเชื่อ
       เมื่อมนสิการโดยความเป็นทุกข์ จิตมากด้วยความสงบ
       เมื่อมนสิการโดยความอนัตตา จิตมากด้วยความรู้

ผู้มนสิการโดยความไม่เที่ยง จิตมากด้วยความน้อมใจเชื่อ ย่อมได้ อนิมิตตวิโมกข์ ผู้มนสิการโดยความเป็นทุกข์ จิตมากด้วยความสงบ ย่อมได้อัปปณิหิตวิโมกข์ ผู้มนสิการโดยความอนัตตา จิตมากด้วยความรู้ ย่อมได้สุญญตวิโมกข์


วิโมกข์ 3 มีสภาวะนำออกไปต่างกัน

บุคคลผู้มนสิการโดยความไม่เที่ยง ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความดับ ด้วยอำนาจแห่ง อนิมิตตวิโมกข์
บุคคลผู้มนสิการโดยความเป็นทุกข์ ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความดับ ด้วยอำนาจแห่ง อัปปณิหิตวิโมกข์
บุคคลผู้มนสิการโดยความอนัตตา ย่อมนำจิตออกไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความดับ ด้วยอำนาจแห่ง สุญญตวิโมกข์

วิโมกข์ 3 มีอาการ 7 อย่าง
ในขณะเดียวกัน

บุคคลผู้มนสิการโดยความไม่เที่ยง ย่อมพ้นจากนิมิต เพราะเหตุนั้นวิโมกข์นั้น จึงเป็น อนิมิตตวิโมกข์
 บุคคลพ้นจากอารมณ์ใด ย่อมไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์นั้น จึงเป็น อัปปณิหิตวิโมกข์
บุคคลไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ใด เป็นผู้ว่างจากอารมณ์นั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์นั้น จึงเป็น สุญญตวิโมกข์

บุคคลว่างจากนิมิตใด เป็นผู้ไม่มีนิมิต เพราะนิมิตนั้น เพราะเหตุนั้นวิโมกข์นั้น จึงเป็น อนิมิตตวิโมกข์ วิโมกข์ 3 ย่อมมีในขณะเดียวกันด้วยอาการ 7 ประการ คือ สภาวะประชุมลง ด้วยสภาวะบรรลุ ด้วยสภาวะได้ ด้วยสภาวะรู้แจ้ง ด้วยสภาวะทำให้แจ้ง ด้วยสภาวะถูกต้อง และด้วยสภาวะตรัสรู้อย่างนี้

ฌานวิโมกข์

บุคคลเมื่อเผา ย่อมหลุดพ้น ชื่อว่า ฌานวิโมกข์ เมื่อเผาไหม้ ย่อมหลุดพ้น ชื่อว่า ฌานวิโมกข์ กิเลสทั้งหลายย่อมไหม้ไป ชื่อว่า ธรรม พระอรหันต์ย่อมเผากิเลสทั้งหลาย คือ รู้จักกิเลสที่เผาแล้ว และกิเลสที่กำลังถูกเผาให้ไหม้ไป เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ฌานวิโมกข์


การเจริญวิโมกข์ 3

การปฏิบัติ การเจริญ การทำให้มาก ซึ่งปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค นี้เป็นการเจริญวิโมกข์ 3

ปัจจเวกขณญาณ (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓๑ )


ปัจจเวกขณญาณ
(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓๑)

ปัญญาในการเห็นธรรมที่มาร่วมกันในขณะนั้น ชื่อว่า ปัจจเวกขณญาณ ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ในขณะแห่งสกิทาคามิมรรค ในขณะแห่งอนาคามิมรรค และในขณะแห่งอรหัตตมรรค
ญาณชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ เพราะมีสภาวะเห็นมาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะมีสภาวะตรึกตรอง มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่าสัมมาวาจา เพราะมีสภาวะกำหนด มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมากัมมันตะ เพราะมีสภาวะเป็นสมุฏฐาน มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมาอาชีวะ เพราะมีสภาวะผ่องแผ้ว มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมาวายามะ เพราะมีสภาวะประคองไว้ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมาสติ เพราะมีสภาวะตั้งมั่น มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมาสมาธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า อินทรีย์ เพราะมีสภาวะเป็นใหญ่ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า พละ เพราะมีสภาวะไม่หวั่นไหวมาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า โพชฌงค์ เพราะมีสภาวะนำออก มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า มรรค เพราะมีสภาวะเป็นเหตุ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สติปัฏฐาน เพราะมีสภาวะตั้งมั่น มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัมมัปปธาน เพราะมีสภาวะดำรงไว้ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า อิทธิบาท เพราะมีสภาวะสำเร็จ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สัจจะ เพราะมีสภาวะเป็นของแท้มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สมถะ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่านมาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่าวิปัสสนา เพราะมีสภาวะพิจารณาเห็น มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สมถะและวิปัสสนา เพราะมีสภาวะเป็นรสอย่างเดียวกัน มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า ธรรมที่เป็นคู่กัน เพราะมีสภาวะไม่ล่วงเลยกัน มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า สีลวิสุทธิ เพราะมีสภาวะสำรวม มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า จิตตวิสุทธิ เพราะมีสภาวะไม่ฟุ้งซ่าน มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ เพราะมีสภาวะเห็น มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า วิโมกข์ เพราะมีสภาวะหลุดพ้น มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า วิชชา เพราะมีสภาวะรู้แจ้งมาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า วิมุตติ เพราะมีสภาวะสละ มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า ญาณในความสิ้นไป เพราะมีสภาวะตัดขาด มาร่วมกันในขณะนั้น
ญาณชื่อว่า อนุปปาทญาณ (ญาณในความไม่เกิดขึ้น)เพราะมีสภาวะสงบระงับมาร่วมกันในขณะนั้น