อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ
หรือผลของการใช้สติพิจารณากายไว้มีมากมาย ดังนี้
๑. การใช้สติพิจารณากาย
ถ้าอบรมบ่อยๆ ทำให้เชี่ยวชาญ ย่อมทำให้เกิดความสังเวช เกิดประโยชน์
ไม่ตกเป็นธาตุของอำนาจฝ่ายต่ำ มีสติ มีสัมปชัญญะ(รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ)
เกิดญาณทัสสนะ(เห็นตามความเป็นจริง) เข้าใจวิธีที่จะอยู่ให้เป็นสุขในชีวิตปัจจุบัน
และทำตนให้รู้แจ้งความรู้(วิชชา) และความหลุดพ้น(วิมุตติ) ได้ด้วย
๒. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว กายของเขาก็จะสงบ ใจของเขาก็จะสงบ แม้วิตก วิจารก็สงบ
เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลความรู้ให้บริบูรณ์
๓. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ความชั่วที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิด และความชั่วอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละได้
๔. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ความดีที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิด และความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
๕. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมละความไม่รู้(อวิชชา)
เสียได้ ความรู้ย่อมเกิดขึ้น ย่อมละการสำคัญตัว(มานะ)เสียได้
กิเลสชนิดละเอียด(อนุสัย)ก็เพิกถอนได้แล้ว และยังละกิเลสทั้งหยาบ
และละเอียดได้อีกด้วย
๖. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญญาแตกฉาน
และเป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง
๗.การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมรู้แจ้งธรรมธาตุ(สภาพที่แท้จริงของรูปธรรมและนามธรรม)มากมาย
และย่อมแตกฉานในธรรมธาตุต่างๆเหล่านั้น
๘.การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมมีส่วนเกื้อกูลที่จะทำให้บรรลุโสดาบัน(ผู้เข้าถึงกระแสนิพพาน เป็นอริยบุคคลขั้นแรก เกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ อย่างกลาง ๒-๓ ชาติ
อย่างต่ำเกิดอีกเพียงชาติเดียว) บรรลุสกิทาคามี(ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นที่
๒ จะเกิดอีกเพียงชาติเดียว) บรรลุอนาคามี(ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นที่
๓ ผู้ละสังโยชน์(กิเลส)เบื้องต่ำได้หมดทั้ง ๕ ข้อ ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) และบรรลุอรหันต์ เป็นอริยบุคคลขั้นสูง ผู้ละสังโยชน์(กิเลส)ทั้งเบื้องต่ำ ๕ ข้อ เบื้องสูง ๕ ข้อ ได้หมด)
๙. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่จะกำจัดกิเลสทุกประเภท
๑๐. ผู้ที่ไม่ได้อบรมเรื่องการใช้สติพิจารณากาย
ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ได้บริโภคอมตธรรม ส่วนผู้ที่ได้อบรมเรื่องการใช้สติพิจารณากาย
ชื่อว่า เป็นผู้ได้บริโภคอมตธรรม(ธรรมที่ไม่ตาย คือ พระนิพพาน)
พระสูตร เล่มที่ ๕ “กายคตาสติ เอกนิบาต เล่ม ๒๐ ข้อ ๒๒๖-๒๔๖”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น