วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

สุเมธดาบส ได้รับพุทธพยากรณ์เป็นพุทธเจ้า


สุเมธดาบส รับพุทธพยากรณ์เป็นพุทธเจ้า
(อดีตชาติของพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ได้รับพระพุทธพยากรณ์เป็นครั้งแรก)

พระพุทธเจ้าทรงเล่าอดีตชาติของพระองค์ เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส เมื่อครั้งเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ แก่พุทธบริษัทว่า 

ใน ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป มีนครชื่อว่า อมระ เป็นนครที่น่าชื่นชม น่ารื่นรมย์ใจ เราเป็นพราหมณ์ นามว่า สุเมธะ อยู่ในกรุงอมรวดี สั่งสมทรัพย์ไว้หลายโกฏิ มีทรัพย์สมบัติ และธัญญาหารมากมาย เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท คัมภีร์ทำนายลักษณะ(หญิง, ชาย, มหาบุรุษ) อิติหาสะ (คัมภีร์พิเศษ เก่าแก่ของพราหมณ์) และในธรรมของตน นั่งในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า

การเกิดในภพใหม่ และการแตกไปแห่งสรีระเป็นทุกข์ ความหลงตายเป็นทุกข์ ชีวิตถูกชราย่ำยี เรามีความเกิด ความแก่ ความป่วยไข้เป็นธรรมดา เราจักแสวงหาพระนิพพาน ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม

เอาเถิด ! เราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย มรรคนั้นไม่อาจ จะไม่เป็นเหตุ เราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ

เมื่อทุกข์มี ชื่อว่าความสุขก็ต้องมีฉันใด เมื่อภพมีอยู่ วิภพ(ธรรมที่ไม่เกิด) ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น

เมื่อความร้อนมี ความเย็นอย่างอื่น ก็ต้องมีฉันใด เมื่อไฟ ๓ กองนี้(ไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ) มีอยู่ นิพพาน (ความดับ) ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น

เมื่อความชั่วมี แม้ความดี ก็ต้องมี ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิด ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น

บุรุษผู้ตกไปในหลุมคูถ เห็นสระน้ำเต็ม ไม่เข้าไปยังสระน้ำนั้น นั่นไม่ใช่ความผิดของสระน้ำนั้น ฉันใด เมื่อสระน้ำอมฤต (นิพพาน) มีอยู่ บุคคลไม่แสวงหาสระน้ำนั้น อันเป็นที่ชำระมลทิน คือกิเลส นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของสระน้ำอมฤต ฉันนั้น

เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษนั้นถูกข้าศึกปิดล้อม ไม่ยอมหนีไป นั่นไม่ใช่ความผิดของหนทางนั้น ฉันใด เมื่อทางเกษมมีอยู่ บุคคลถูกกิเลสปิดล้อม ไม่แสวงหาทางนั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของทางอันเกษมนั้น ฉันนั้น

คนป่วยเมื่อหมอมีอยู่ ก็ไม่ให้หมอเยียวยา ความป่วยไข้นั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของหมอ ฉันใด คนมีทุกข์ถูกความป่วยไข้ คือกิเลสเบียดเบียน ไม่แสวงหาอาจารย์ นั้นไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำ

เอาเถิด ! เราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น

คนปลดเปลื้องซากศพที่น่ารังเกียจ ที่ผูกไว้ที่คอแล้ว ไปอยู่เป็นสุขอย่างเสรีตามลำพังตน ฉันใดเราไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น

คนชายหญิงถ่ายอุจจาระลงในส้วม แล้วละทิ้งส้วมไป ไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใดเราจักละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย ดุจคนถ่ายอุจจาระลงในส้วม แล้วละทิ้งส้วมไป ฉันนั้น

เจ้าของเรือทิ้งเรือที่คร่ำคร่า ชำรุด น้ำไหลเข้าได้ไป อย่างไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใด เราจักละทิ้งร่างกายที่มีทวารทั้ง ๙ มีของไม่สะอาดไหลออกเป็นนิตย์ไปเสีย ดุจเจ้าของเรือทิ้งเรือที่คร่ำคร่าไป ฉันนั้น

บุรุษนำสิ่งของมีค่าไปกับโจร เห็นภัยคือการถูกปล้นสิ่งของ จึงละทิ้งโจรไปเสีย ฉันใดกายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เราจักละกายนี้ไป เพราะกลัวแต่การปล้นกุศลธรรม ฉันนั้น

ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิ แก่คนมีที่พึ่ง และไม่มี ที่พึ่งแล้วไปยังภูเขาหิมพานต์ เราสร้างอาศรมอย่างดี สร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้ สร้างทางจงกรมเว้นโทษ ๕ ประการ เป็นที่มาซึ่งอภิญญาพละประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ

เราละทิ้งผ้าสาฎกประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ซึ่งประกอบด้วยโทษ ๘ ประการ นุ่งผ้าคากรอง ประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ เราละทิ้งบรรณศาลาที่ประกอบด้วยโทษ ๘ ประการ ไปอาศัยโคนไม้ ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ

เราละทิ้งข้าวเปลือกที่หว่านไว้ ปลูกไว้เสีย บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ซึ่งประกอบด้วยคุณหลายอย่างในที่นั้น เราบำเพ็ญความเพียร อยู่ในที่นั่ง ที่ยืน และที่จงกรม ภายในเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุอภิญญาพละ

เมื่อเราบรรลุความสำเร็จ มีความชำนาญในศาสนาอย่างนี้ พระชินเจ้า พระนามว่า ทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในขณะที่พระชินเจ้าทรงปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสรู้ และแสดงธรรม เราผู้เปี่ยมด้วยความยินดีในฌาน จึงไม่ได้เห็นนิมิต ๔ ประการ

ครั้นเรา ออกจากอาศรม เหาะไปในท้องฟ้า เห็นหมู่ชนมีจิตโสมนัส ร่าเริงยินดี ครั้นทราบจากมหาชนว่า ได้เตรียมแผ้วถางทาง เพื่อรับเสด็จดำเนินของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

ปีติเกิดแก่เรา เพราะได้ฟังคำว่า พุทโธ เราทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ ยืนคิดว่า "เราจักปลูกพืชคือบุญลงในที่นี้" จึงขอโอกาสจากมหาชนเพื่อช่วยแผ้วถางทาง และคิดไปพลางว่า พุทโธ ! พุทโธ ! พุทโธ !

เมื่อทางยังไม่ทันเสร็จ พระชินมหามุนี พร้อมพระขีณาสพ ๔๐๐,๐๐๐ รูป ผู้ได้อภิญญา ๖ ผู้คงที่ ผู้ปราศจากมลทิน ก็เสด็จมาถึง เราสยายผม แล้วลาดผ้าคากรอง และหนังสัตว์ลงบนเปือกตม แล้วนอนคว่ำหน้าลง ณ ที่นั้น

ด้วยคิดว่า "พระพุทธเจ้า พร้อมสาวกจงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย ข้อนั้น จักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา "เมื่อเรานอนอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า เราเมื่อต้องการอยู่ ก็พึงเผากิเลสเราได้ ในวันนี้ แต่จะมีประโยชน์อะไร ? แก่เรา ที่จะรู้แจ้งพระธรรมในศาสนานี้  ข้ามพ้นแต่เพียงผู้เดียว โดยเพศที่คนอื่นไม่รู้จัก  เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณพ้นแล้ว  พึงปลดเปลื้องมนุษย์ และเทวดาเป็นอันมากให้ข้ามพ้นด้วย”          
พระพุทธเจ้า พระนามว่า ทีปังกร ตรัสว่าเธอทั้งหลายจงดูชฏิลดาบสนี้ ผู้มีตบะแก่กล้า ในกัปอันประมาณมิได้ นับจากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้า ในโลกพระตถาคตเสด็จออกจาก กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคน ต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั่นแล้ว เสด็จไป แม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสวยข้าวปายาส แล้วเสด็จที่โคนต้นโพธิ์ แล้วตรัสรู้ที่โคน ต้นอัสสัตถพฤกษ์

พระมารดาจักมีพระนามว่า มายา พระบิดาจักมีพระนามว่า สุทโธทนะ พระชินเจ้า พระองค์นี้จักมีพระนามว่า โคดม ตามโคตร

พระโกลิตเถระ และพระอุปติสสเถระ จักเป็นอัครสาวก พระเถระนามว่า อานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรรณาเถรี จักเป็นอัครสาวิกา

จิตตคหบดีอุบาสก และหัตถคหบดีอุบาสก จักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกา และอุตตราอุบาสิกา จักเป็นพระอุปัฏฐายิกา

พระโคดม ผู้มีพระยศพระองค์นั้น จักมีพระชนมายุ ประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ได้ฟังพระดำรัสแล้ว ต่างมีความชื่นชม เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า

"ถ้าเราทั้งหลายพลาดโอกาสในศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้ากัน ในหน่อพุทธางกูรพระองค์นี้ในอนาคตกาล"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น