วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ภาระหน้าที่ของท้าวโลกบาล



ภาระหน้าที่ของท้าวโลกบาล


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องท้าวโลกบาล โอรสและบริวาร ได้ออกตรวจตราดู พฤติกรรมของชาวโลกมนุษย์ โดยจัดตารางดังนี้

วัน ๘ ค่ำ เป็นหน้าที่ของเทพบริวารท้าวโลกบาล

วัน ๑๔ ค่ำ เป็นหน้าที่ของโอรสท้าวโลกบาล

วัน ๑๕ ค่ำ เป็นหน้าที่ของท้าวโลกบาลตรวจตราดูพฤติกรรมของของชาวโลกว่า...

มีใครบ้างที่ตั้งใจปรนนิบัติบำรุงบิดามารดา

เกื้อกูลสมณผู้ทรงศีล

อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในเรือน

สมาทานรักษาอุโบสถศีล

พากเพียรปฏิบัติธรรมขวนขวายในกิจกรรมที่

เป็นกุศลอยู่

มื่อทราบพฤติกรรมของชาวโลกมนุษย์แล้ว ท้าวโลกบาลจะเป็นผู้รายงานแก่มวลเทพผู้มาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภา(ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) ตามที่ตนได้รู้เห็น

เมื่อได้รับรายงานว่า ชาวโลกมนุษย์สนใจในการสร้างกุศลผลบุญต่างๆ มากมาย พวกเทวดาในเทพสมาคมจะพากันดีใจว่า คราวนี้พวกกายทิพย์ (เทพ)จักเต็มบริบูรณ์ พวกอสุรกายจักเสื่อมสูญ

ครั้นได้รับรายงานว่า ชาวโลกมนุษย์ ประมาท มัวเมา ไม่สนใจในกุศลผลบุญใดๆเลย พวกเทวดาในเทพสมาคมนั้น จักพากันเสียใจว่า คราวนี้พวกกายทิพย์(เทพ) จักเสื่อมสูญ มวลเหล่าอสุรกายจักเต็มบริบูรณ์

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อสรพิษ ๔ จำพวก



อสรพิษ ๔ จำพวก

พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ว่า...
  อสรพิษมีฤทธิ์เดชแรงกล้า ๔ จำพวก(คือ มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ร่างกาย อันประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ) ชายผู้รักตัวกลัวตาย มีคนบอกเรื่องอสรพิษ ๔ จึงหลบหนีไป
ขณะหนีไปมีคนมาบอกว่า เพชฌฆาตดุร้าย ๕ คน (คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) กำลังตามมาจะฆ่าท่าน งานใดค้างอยู่ให้ รีบทำ
ชายคนนั้นจึงหนีต่อไปอีก มีคนมาบอกอีกว่า เพชฌฆาตคนที่ ๖ (นันทิราคะ คือ ความยินดี เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณ ๕)เหาะมาทางอากาศ จะตามมาฆ่าท่าน
ชายคนนั้นหนีต่อไปอีก และหลบเข้าไปบ้านร้าง(คือ อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) หลังหนึ่ง กำลังลูบคลำภาชนะเปล่า
มีคนมาบอกว่า โจรที่คอยฆ่าชาวบ้าน(คืออายตนะภายนอก ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สัมผัส) และธรรมารมณ์ ) เข้ามาเรือนร้างนี้เสมอ (อาจฆ่าท่านได้)
ชายคนนั้นจึงหนีต่อไปอีก พบห้วงน้ำใหญ่ (คือ โอฆะทั้ง ๔ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ฝั่งนี้ (กายนี้  โลกนี้) เต็มไปด้วยภัยอันตราย จึงผูกแพ (มรรค)ข้ามไปฝั่งโน้น (นิพพาน) และขึ้นบกโดยปลอดภัย จึงเป็นพราหมณ์ (คือพระอรหันต์)


อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ



อานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ของการเจริญกายคตาสติ หรือผลของการใช้สติพิจารณากายไว้มีมากมาย ดังนี้
๑. การใช้สติพิจารณากาย ถ้าอบรมบ่อยๆ ทำให้เชี่ยวชาญ ย่อมทำให้เกิดความสังเวช เกิดประโยชน์ ไม่ตกเป็นธาตุของอำนาจฝ่ายต่ำ มีสติ มีสัมปชัญญะ(รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ) เกิดญาณทัสสนะ(เห็นตามความเป็นจริง) เข้าใจวิธีที่จะอยู่ให้เป็นสุขในชีวิตปัจจุบัน และทำตนให้รู้แจ้งความรู้(วิชชา) และความหลุดพ้น(วิมุตติ) ได้ด้วย
๒. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว กายของเขาก็จะสงบ ใจของเขาก็จะสงบ แม้วิตก วิจารก็สงบ เป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลความรู้ให้บริบูรณ์
๓. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ความชั่วที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิด และความชั่วอื่นที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมละได้
๔. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ความดีที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิด และความดีที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
๕. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมละความไม่รู้(อวิชชา) เสียได้ ความรู้ย่อมเกิดขึ้น ย่อมละการสำคัญตัว(มานะ)เสียได้ กิเลสชนิดละเอียด(อนุสัย)ก็เพิกถอนได้แล้ว และยังละกิเลสทั้งหยาบ และละเอียดได้อีกด้วย
๖. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญญาแตกฉาน และเป็นไปเพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง
๗.การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมรู้แจ้งธรรมธาตุ(สภาพที่แท้จริงของรูปธรรมและนามธรรม)มากมาย และย่อมแตกฉานในธรรมธาตุต่างๆเหล่านั้น
๘.การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีส่วนเกื้อกูลที่จะทำให้บรรลุโสดาบัน(ผู้เข้าถึงกระแสนิพพาน  เป็นอริยบุคคลขั้นแรก เกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ อย่างกลาง ๒-๓ ชาติ อย่างต่ำเกิดอีกเพียงชาติเดียว) บรรลุสกิทาคามี(ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๒ จะเกิดอีกเพียงชาติเดียว) บรรลุอนาคามี(ผู้เป็นอริยบุคคลขั้นที่ ๓ ผู้ละสังโยชน์(กิเลส)เบื้องต่ำได้หมดทั้ง ๕ ข้อ ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) และบรรลุอรหันต์ เป็นอริยบุคคลขั้นสูง ผู้ละสังโยชน์(กิเลส)ทั้งเบื้องต่ำ ๕ ข้อ เบื้องสูง ๕ ข้อ ได้หมด)
๙. การใช้สติพิจารณากายที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่จะกำจัดกิเลสทุกประเภท
๑๐. ผู้ที่ไม่ได้อบรมเรื่องการใช้สติพิจารณากาย ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ได้บริโภคอมตธรรม ส่วนผู้ที่ได้อบรมเรื่องการใช้สติพิจารณากาย ชื่อว่า เป็นผู้ได้บริโภคอมตธรรม(ธรรมที่ไม่ตาย คือ พระนิพพาน)

     พระสูตร เล่มที่ ๕  กายคตาสติ เอกนิบาต เล่ม ๒๐ ข้อ ๒๒๖-๒๔๖