วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

พุทธการกธรรม (การบำเพ็ญบารมี 10 ของสุเมธดาบส)


พุทธการกธรรม
(การบำเพ็ญบารมี 10)

ใน ๔  อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป  มีนครชื่อว่า อมระ  เป็นนครที่น่าชื่นชม น่ารื่นรมย์ใจ เราเป็นพราหมณ์ นามว่า สุเมธะ  อยู่ในกรุงอมรวดี  พระชินเจ้า พระนามว่า ทีปังกร  ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก  เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในขณะที่พระชินเจ้าทรงปฏิสนธิ ประสูติ  ตรัสรู้ และแสดงธรรม เราผู้เปี่ยมด้วยความยินดีในฌาน  จึงไม่ได้เห็นนิมิต ๔ ประการ

ครั้น เรา ออกจากอาศรม  เหาะไปในท้องฟ้า  เห็นหมู่ชนมีจิตโสมนัส ร่าเริงยินดี  ครั้นทราบจากมหาชนว่า ได้เตรียมแผ้วถางทาง เพื่อรับเสด็จดำเนินของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร  ปีติเกิดแก่เรา เพราะได้ฟังคำว่า พุทโธ เราทั้งยินดี  ทั้งตื้นตันใจ ยืนคิดว่า เราจักปลูกพืชคือบุญลงในที่นี้  จึงขอโอกาสจากมหาชนเพื่อช่วยแผ้วถางทาง  และคิดไปพลางว่า พุทโธ ! พุทโธ ! พุทโธ !

          เมื่อ ทางยังไม่ทันเสร็จ  พระชินมหามุนี พร้อมพระขีณาสพ ๔๐๐,๐๐๐ รูป  ผู้ได้อภิญญา ๖  ผู้คงที่  ผู้ปราศจากมลทิน ก็เสด็จมาถึง  เราสยายผม แล้วลาดผ้าคากรอง และหนังสัตว์ลงบนเปือกตม  แล้วนอนคว่ำหน้าลง  ณ ที่นั้น

          ด้วยคิดว่า พระพุทธเจ้า พร้อมสาวกจงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย  ข้อนั้น จักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เมื่อเรานอนอยู่ มีความคิดอย่างนี้ว่า  เราเมื่อต้องการอยู่  ก็พึงเผากิเลสเราได้ ในวันนี้ แต่จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา  ที่จะรู้แจ้งพระธรรมในศาสนานี้  ข้ามพ้นแต่เพียงผู้เดียว โดยเพศที่คนอื่นไม่รู้จัก   เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณพ้นแล้ว  พึงปลดเปลื้องมนุษย์ และเทวดาเป็นอันมากให้ข้ามพ้นด้วย

          พระพุทธเจ้า พระนามว่า ทีปังกร ตรัสว่า เธอทั้งหลายจงดูชฏิลดาบสนี้    ผู้มีตบะแก่กล้า ในกัปอันประมาณมิได้ นับจากกัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้า  ในโลก

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  มีพระดำรัสไม่เป็นสอง ไม่เป็นโมฆะ  ไม่มีพระดำรัสไม่เป็นจริง   ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน  เหมือนโยนก้อนหินขึ้นไปบนฟ้า  ย่อมตกลงมาที่พื้นดินแน่นอน  เหมือนสัตว์ทั้งหลายต้องตายเที่ยงแท้แน่นอน   เหมือนสิ้นราตรีแล้ว อาทิตย์ต้องอุทัยแน่นอน  เหมือนราชสีห์ลุกจากที่นอน  ต้องมีการบันลือสีหนาทแน่นอน  เหมือนสตรีมีครรภ์แก่ จะต้องมีการคลอดบุตรในครรภ์แน่นอน

เอาเถิด ! เราจักค้นหา พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า คือบารมี ๑๐) จากสิบทิศ คือ ข้าง ๆ เบื้องบน เบื้องล่าง  ตลอดทั่วธรรมธาตุซึ่งเป็นทางใหญ่  ที่ผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน ได้อบรม สั่งสมมา

มื่อค้นหาอยู่ ก็เห็น ทานบารมี เป็น ข้อที่ ๑  หม้อที่เต็มด้วยน้ำ ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจับคว่ำลง  น้ำย่อมไหลออกหมด ไม่ขังอยู่ในหม้อ ฉันใด  ท่านเห็นผู้ขอ ทั้งชั้นต่ำ  ชั้นกลาง  และชั้นสูงแล้ว จงให้ทานอย่าให้เหลือ  ดุจหม้อน้ำที่เขาคว่ำลง ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น ศีลบารมี เป็น ข้อที่ ๒  จามรีย่อมรักษาขนหาง ที่ติดข้องอยู่ในที่ไรๆ ก็ยอมตายในที่นั้นๆ  ไม่ยอมให้ขนหางเสียไป ฉันใด  ท่านจงบำเพ็ญศีลในภูมิทั้ง ๔ รักษาศีลในกาลทุกเมื่อ ดุจจามรี รักษาขนหาง ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น เนกขัมมบารมี เป็น ข้อที่ ๓ คนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำ ได้รับความทุกข์ทรมานมานาน ย่อมไม่เกิดความยินดีในเรือนจำนั้น  มีแต่จะหาช่องทางที่จะพ้นออกไป  ฉันใดท่านจงเห็นภพทั้งปวง  ดุจเรือนจำ  จงมุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ  เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ  ฉันนั้นเถิด

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น ปัญญาบารมี เป็น ข้อที่ ๔  ภิกษุเมื่อเที่ยวบิณฑบาต  มิเว้นว่าจะเป็นตระกูลขั้นต่ำ  ชั้นกลาง  หรือชั้นสูง  ย่อมได้อาหารพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้  ฉันใด ท่านเมื่อสอบถามคนมีความรู้  ตลอดกาลทั้งปวง  บำเพ็ญปัญญาบารมีไปเถิด แล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น วิริยบารมี เป็น ข้อที่ ๕  ราชสีห์พญาเนื้อมีความเพียรไม่ย่อหย่อน ทั้งในขณะหมอบ ยืน และเดิน ประคองใจไว้ทุกเมื่อ  ฉันใด  ท่านจงประคองความเพียรให้มั่นคง ทุกภพ ทุกชาติ ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น ขันติบารมี เป็น ข้อที่ ๖  ธรรมดาแผ่นดินย่อมทนทาน ต่อสิ่งที่เขาทิ้งทุกอย่าง ทั้งที่สะอาด และไม่สะอาด ไม่ทำความยินดี และไม่ขัดเคือง แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อดทนต่อการยกย่อง และการดูหมิ่นของคนทั้งปวง  บำเพ็ญขันติบารมีไปเถิด  แล้วจักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ก็เห็น สัจจบารมี เป็น ข้อที่ ๗    ธรรมดาดาวประกายพรึก เป็นดาวนพเคราะห์  ที่เที่ยงตรงในโลก พร้อมเทวโลก  ย่อมไม่เคลื่อนไปจากวิถีโคจร ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน  ฤดูหนาว  หรือฤดูฝน แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงอย่าถอยไปจากทาง ในสัจจะทั้งหลายบำเพ็ญสัจจบารมี แล้ว  จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น อธิษฐานบารมี เป็น ข้อที่ ๘  ภูผาไม่หวั่นไหว  ตั้งมั่นไม่สะเทือน เพราะลมแรง คงตั้งอยู่ในที่เดิมนั่นเอง  แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ในอธิษฐานบารมีทุกเมื่อ บำเพ็ญอธิษฐานบารมี แล้ว  จักบรรลุสัมโพธิญาณได้  ฉันนั้น

ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น เมตตาบารมี เป็น ข้อที่ ๙  ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็น ชำระล้างมลทินคือ ธุลีเสมอกัน ทั้งในคนดี และคนชั่ว แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้เสมอกัน  ทั้งในคนที่เกื้อกูลกัน และในคนที่ไม่ได้เกื้อกูลกัน บำเพ็ญเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุ สัมโพธิญาณได้
  
ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ก็เห็น อุเบกขาบารมี เป็น ข้อที่ ๑๐ ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉยในสิ่งที่เขาทิ้งลง ทั้งที่สะอาด และไม่สะอาด ทั้ง ๒ อย่าง เว้นความโกรธ และความยินดี  แม้ฉันใด ถึงท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงมีใจเที่ยงตรงในสุข และทุกข์ ในกาลทุกเมื่อ บำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้
  
ธรรม ที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณมีอยู่ในโลกเพียงเท่านี้  นอกจากนี้ ยิ่งกว่านั้นไม่มี  ท่านจงตั้งมั่นในธรรมนั้นเถิด เมื่อเราพิจารณาเห็นธรรมเหล่านี้พื้นพสุธาโลกธาตุ มีหมื่นจักรวาล ก็ไหวด้วยเดชแห่งธรรม

ปฐพี ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น บริษัทประมาณเท่าใด ที่อยู่ในบริเวณรอบๆ พระพุทธเจ้าทีปังกร สั่นเทา นอนสลบ อยู่บนภาคพื้นที่บริเวณนั้น

          มหาชนหวาดเสียว สะดุ้งกลัว ตื่นตระหนก มีใจหวาดหวั่น ประชุมกัน  พากันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนาม ทีปังกร ทูลถามว่า อะไรจักมีแก่ชาวโลก เป็นเหตุดี หรือเหตุร้าย”  พระพุทธชินเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า

วันนี้ ผู้ที่จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลกได้พิจารณาเห็นธรรมที่พระชินเจ้าทรงอบรม สั่งสมมาก่อน  ซึ่งเป็นพุทธภูมิ โดยไม่เหลือ เพราะเหตุนั้น ปฐพีโลกธาตุ มีหมื่นจักรวาล ในโลก  พร้อมทั้งเทวโลกจึงไหวแล้ว  มหาชนได้ฟังพระดำรัสแล้ว ก็เกิดความสบายใจ ทุกคนพากันมาหาเราแล้วอภิวาทอีก เรายึดพระพุทธคุณ ทำใจให้มั่นคง นมัสการพระพุทธเจ้าแล้ว ลุกออกจากอาสนะ

ครั้งนั้น  เทพถือดอกไม้ทิพย์  และมนุษย์ถือดอกไม้ที่เป็นของมนุษย์ต่างโปรยปรายเพื่อเรา  ต่างประกาศความสวัสดีว่า  ท่านปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่หลวง   ขอให้ท่านสมความปรารถนาเถิด

เสนียดจัญไรทั้งปวง ความโศก โรค และอันตราย จงอย่ามีแก่ท่าน ขอให้ท่านบรรลุพระโพธิญาณ โดยเร็วพลันเถิด 

พระ สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์  ได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ มาแล้ว ขอให้ท่านมีความเพียรอันยิ่งใหญ่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการเถิด ขอให้ท่านตรัสรู้ที่ต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระชินเจ้า และประกาศพระธรรมจักรเถิด

ดวงจันทร์ในวันเพ็ญเต็มดวงส่องสว่าง ฉันใด  ขอให้ท่านผู้มีใจปรารถนาเต็มเปี่ยมแล้ว จงรุ่งโรจน์ในหมื่นจักรวาล  ฉันนั้นเถิด

แม่น้ำทุกสาย ไหลลงสู่ทะเลหลวง ฉันใด  ขอชาวโลก พร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย จงพากันไปในสำนักของท่าน ฉันนั้นเถิด

ครั้งนั้น สุเมธดาบสนั้น อันทวยเทพ และมนุษย์เหล่านั้น ชมเชย สรรเสริญแล้ว สมาทานธรรม ๑๐ ประการ(บารมี ๑๐) เมื่อจะบำเพ็ญธรรมนั้นให้สมบูรณ์ จึงเข้าไปในป่าใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น